ความเป็นมา

องค์การพุทธศาสนิกสัมพันธ์แห่งโลก (พ.ส.ล.)

นับแต่ครั้งพุทธกาลเมื่อองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้โปรดให้บรรดาศิษยานุษิตย์ของพระองค์ออกไปเผยแผ่พระธรรมคำสั่งสอนเป็นต้นมา จวบจนกระทั่งปัจจุบัน กาลเวลาและสถานการณ์ของโลกได้เปลี่ยนไปจนบันดาลให้เกิดความแตกต่างในทางปฏิบัติและความเข้าใจในพุทธธรรม จึงเกิดเป็นนิกายต่างๆขึ้นมา อาทิ เถรวาท มหายานหรือวัชรยานและอื่นๆ ซึ่งได้แพร่หลายจากทวีปเอเซียไปยังทวีปต่างๆ กระนั้นก็ดี สิ่งที่ชาวพุทธทั่วโลกมีเหมือนกันคือ พุทธศาสนิกชนล้วนมีองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพระพุทธเจ้าเพียงพระองค์เดียว บรรดาคฤหัสถ์ในกาลก่อนจึงตระหนักในเรื่องนี้และเห็นพ้องกันว่า ถึงเวลาที่เหล่าพุทธศาสนิกชนควรจะมีเอกภาพและภราดรภาพเพื่อความวัฒนาถาวรและความรุ่งเรืองของพระพุทธศาสนา ผู้ทรงความรู้ด้านบาลีชาวศรีลังกาผู้มีชื่อเสียงซึ่งเป็นผู้ริเริ่มและเป็นกำลังสำคัญในการผลักดันแนวความคิดนี้จนนำไปสู่การจัดตั้งองค์กรระดับโลกคือท่าน ดร. มาลาลาเสเกรา องค์การพุทธศาสนิกสัมพันธ์แห่งโลก (พ.ส.ล.) จึงได้จัดตั้งขึ้นเมื่อวันวิสาขบูชาวันที่ ๒๕ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๙๓ (๑๙๕๐) ณ ศาสนสถานดาดาลา มาลิกาวา เมืองแคนดี้ ประเทศศรีลังกา ซึ่งเป็นที่ประดิษฐานองค์พระทัณตธาตุ

แม้ว่าแต่ละนิกายจะมีความแตกต่างกันทั้งประเพณีและการปฏิบัติก็ตาม เหล่าพุทธศาสนิกชนทั้งหลายยังพร้อมใจกันลงมติที่จะช่วยกันส่งเสริมและเผยแผ่พระพุทธศาสนา จึงทำให้เกิดการบัญญัติธรรมนูญขององค์การพุทธศาสนิกสัมพันธ์แห่งโลก เพื่อใช้เป็นแนวทางในการปฏิบัติงานดังนี้

ชื่อองค์การ: องค์การพุทธศาสนิกสัมพันธ์แห่งโลก หรือเรียกชื่อย่อว่า พ.ส.ล.

 

วัตถุประสงค์ : องค์การพุทธศาสนิกสัมพันธ์แห่งโลก มีวัตถุประสงค์ดังนี้

  1. ส่งเสริมสนับสนุนในมวลสมาชิกให้รักษาศีลและปฏิบัติธรรมตามคำสั่งสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าโดยเคร่งครัด
  2. เสริมสร้างความสามัคคี ความเป็นปึกแผ่น และภราดรภาพในหมู่พุทธศาสนิกชน
  3. เผยแผ่หลักธรรมอันบริสุทธิ์ประเสริฐขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
  4. จัดตั้งและดำเนินกิจกรรมต่างๆที่เป็นประโยชน์ในด้านสังคม การศึกษา วัฒนธรรม และมนุษยธรรม
  5. ดำเนินงานเพื่อเสริมสร้างสันติภาพและความสามัคคีกลมเกลียว และความผาสุกในมวลมนุษยชาติ ตลอดจนให้ความร่วมมือกับองค์การอื่นๆ ซึ่งประกอบกิจการที่มีความมุ่งหมายอย่างเดียวกัน

     

เหนืออื่นใด องค์การพุทธศาสนิกสัมพันธ์แห่งโลกจะไม่เข้าไปเกี่ยวข้องในทางการเมืองไม่ว่าด้วยวิธีใดๆทั้งทางตรงหรือทางอ้อม
สำนักงานใหญ่องค์การ พ.ส.ล.

เมื่อครั้งแรกเริ่มนั้นมีการตัดสินใจให้ที่ตั้งของสำนักงานใหญ่ขององค์การ พ.ส.ล. อยู่ในประเทศเดียวกันกับที่ประธานขององค์การฯ พำนักอยู่ ดังนั้นเมื่อท่าน ดร.มาลาลาเสเกราซึ่งเป็นชาวศรีลังกาได้รับการเลือกตั้งเป็นประธานคนแรกขององค์การฯ สำนักงานใหญ่แห่งแรกขององค์การพุทธศาสนิกสัมพันธ์แห่งโลกจึงตั้งอยู่ ณ กรุงโคลอมโบ ประเทศศรีลังกา ภายหลังต่อมาอีก ๘ ปีนับจากการก่อตั้งขององค์การฯใน พ.ศ.๒๕๐๑ (๑๙๕๘) ฯพณฯ อู จัน ทูน ชาวพม่าได้รับเลือกตั้งต่อจาก ดร.มาลาลาเสเกรา จึงได้มีการย้ายที่ตั้งของสำนักงานใหญ่มาที่เมืองร่างกุ้ง ประเทศพม่า จนกระทั่ง พ.ศ. ๒๕๐๖ (๑๙๖๓) ได้เกิดการปฏิวัติขึ้นในประเทศพม่า ฯพณฯ อู จัน ทูนได้ขอร้องให้หม่อมเจ้าหญิงพูนพิศมัย ดิศกุลซึ่งเป็นรองประธานองค์การฯในขณะนั้นให้รับช่วงในการดำเนินกิจการทั้งหมดขององค์การ พ.ส.ล. ตลอดช่วงเวลาที่เหลือของการเป็นประธานจนครบวาระ จึงทำให้หม่อมเจ้าหญิงพูนพิศมัย ดิศกุล ซึ่งเป็นชาวไทยคนแรกที่ได้รับการเลือกตั้งอย่างเป็นเอกฉันท์ให้เป็นประธานขององค์การ พ.ส.ล. ตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๐๖ (๑๙๖๓) ที่ตั้งของสำนักงานใหญ่จึงได้ย้ายมาที่ กรุงเทพมหานคร จนกระทั่งการประชุมใหญ่ครั้งที่ ๙ เมื่อ พ.ศ. ๒๕๑๒ (๑๙๖๙) จึงได้มีมติให้ตั้งสำนักงานใหญ่ถาวรในประเทศไทย

ต่อมาใน พ.ศ.๒๕๒๗ (๑๙๘๔) ฯพณฯ ดร. สัญญา ธรรมศักดิ์ ได้รับเลือกตั้งให้เป็นประธานต่อจากหม่อมเจ้าหญิงพูนพิศมัย ดิศกุล และในปัจจุบันประธานขององค์การ พ.ส.ล.คือ ฯพณฯ แผน วรรณเมธี ซึ่งได้รับการเลือกตั้ง ณ การประชุมใหญ่ครั้งที่ ๒๐ ณ ประเทศออสเตรเลีย พ.ศ. ๒๕๔๑ (๑๙๙๘)

นอกจากนี้ยังมีคณะกรรมการบริหารของสำนักงานใหญ่ซึ่งให้การปรึกษาและการแนะนำในการดำเนินงานและกิจกรรมต่างๆของ พ.ส.ล. ดังมีรายนามต่อไปนี้

นายแผน วรรณเมธี
ประธานกรรมการ
นายเตช บุนนาค
ที่ปรึกษา
นายประทีป โศจิรัตน์
ที่ปรึกษา
นายพัลลภ ไทยอารี
รองประธานกรรมการ
นายอนุรุธ ว่องวานิช
กรรมการ
นางกาญจนา สุ่นสวัสดิ์
กรรมการ
นางกิ่งกาญจน์ อารักษ์พุทธนันท์
กรรมการ
นายจีระศักดิ์ ธเนศนันท์
กรรมการ
ดร. ฐากูร พานิช
กรรมการ
ดร. ธเนศ สุจารีกุล
กรรมการ
นายสมาน นฤมิตญาณ
กรรมการ
นางสาวเพ็ญศรี เรืองพงษ์
กรรมการ
  • ภารกิจหลัก
  • การจัดองค์กรและแนวทางดำเนินงาน
  • กิจกรรมของสำนักงานใหญ่

ภารกิจหลักของของ พ.ส.ล. คือ การแผยแผ่พระพุทธศาสนาและการส่งเสริมความเป็นปึกแผ่นและสามัคคีธรรมของพุทธศาสนิกชนทั่วโลก ปัจจุบันนี้ พ.ส.ล. มีศูนย์ภาคี ๑๘๙ แห่ง ใน ๕๐ ประเทศทุกภูมิภาคทั่วโลก ศูนย์ภาคีเหล่านี้คือองค์กรเผยแผ่พุทธศาสนาของ พ.ส.ล. และดำเนินกิจกรรมต่างๆเพื่อจรรโลงและเผยแพร่พระธรรมคำสั่งสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเพื่อให้เกิดสันติภาพและความสุขในมวลมนุษยชาติ


หน้าที่ของ พ.ส.ล. คือ ให้แนวทางปฏิบัติตามมติของที่ประชุมใหญ่และประสานงานกับศูนย์ภาคีต่างๆทั่วโลก ทั้งนี้ การประชุมใหญ่ของ พ.ส.ล. จะจัดให้มีขึ้นทุก ๒ ปี โดยศูนย์ภาคีต่างๆ จะเข้าร่วมประชุมกันเพื่อแลกเปลี่ยนความรู้ ความคิดเห็น และประสบการณ์ซึ่งกันและกัน เพื่อพิจารณาออกมติต่างๆ ในการใช้เป็นแนวทางในการปฏิบัติร่วมกัน โดยวิธีนี้ พ.ส.ล. คาดว่าจะเป็นการเสริมสร้างความเป็นปึกแผ่นและสามัคคีธรรมในหมู่พุทธศาสนิกชนทั่วโลกอย่างต่อเนื่องตลอดไป

เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ตามที่กำหนดไว้ พ.ส.ล. จึงมีการจัดองค์กรและแนวทางการดำเนินงานในธรรมนูญดังนี้

  1. การประชุมใหญ่ (General Conference) เป็นองค์กรสูงสุดที่กำหนดยุทธศาสตร์และนโยบายในการดำเนินงานขององค์การฯและศูนย์ภาคีทั่วโลก
  2. คณะกรรมการทั่วไป (General Council) เป็นองค์การบริหารซึ่งทำหน้าที่ควบคุมทรัพย์สินและกองทุนของ พ.ส.ล. นอกจากนี้ยังมีความรับผิดชอบในการจัดให้มีการเลือกตั้งเพื่อคัดสรรกรรมการและเจ้าหน้าที่ต่างๆ รวมทั้งกำหนดกฏเกณฑ์และวิธีการปฏิบัติในการประชุมขององค์การต่างๆของ พ.ส.ล.
  3. คณะกรรมการบริหาร (Executive Council) เป็นองค์การที่ดูแลกำกับและให้คำแนะนำการบริหารงานของ พ.ส.ล. ให้เป็นไปตามมติของที่ประชุมใหญ่ โดยมีประธาน พ.ส.ล. เป็นประธานกรรมการบริหาร โดยทั่วไปจะจัดให้มีการประชุมคณะกรรมการบริหารทุกๆ ๖ เดือนเพื่อที่จะสามารถติดตามและประเมินผลการดำเนิงานของ พ.ส.ล.
  4. คณะกรรมการประจำ (Standing Committee) ทำหน้าที่พิจารณาเรื่องต่างๆตามที่คณะกรรมการทั่วไปจะมอบหมายให้ ในปัจจุบันมีคณะกรรมการประจำทั้งหมด ๑๑ คณะ ได้แก่ ๑. คณะกรรมการด้านการเงิน ๒. คณะกรรมการด้านสิ่งพิมพ์ การเผยแพร่ การศึกษา วัฒนธรรมและศิลปะ ๓. คณะกรรมการด้านกิจกรรมธรรมฑูต ๔. คณะกรรมการด้านมนุษยธรรม ๕. คณะกรรมการด้านเอกภาพและสมานฉันท์ ๖. คณะกรรมการด้านเยาวชน ๗. คณะกรรมการด้านการพัฒนาสังคมและเศรษฐกิจ ๘. คณะกรรมการด้านสตรี ๙. คณะกรรมการด้านปัญจศีลสมาทาน ๑๐. คณะกรรมการด้านสิ่งแวดล้อม ๑๑. คณะกรรมการด้านศาสนสัมพันธ์
     

 

องค์การยุวพุทธศาสนิกสัมพันธ์แห่งโลก (The World Fellowship of Buddhist Youth) ตั้งขึ้นตามมติที่ประชุมใหญ่ ครั้งที่ ๑๐ เมื่อ พ.ศ. ๒๕๑๕ (๑๙๗๒) ณ ประเทศสาธารณรัฐศรีลังกา เพื่อส่งเสริมเยาวชนในการรักษาศีลและปฏิบัติธรรม รวมทั้งเสริมสร้างสันติภาพและความสามัคคีในหมู่เยาวชน


มหาวิทยาลัยพุทธศาสนาแห่งโลก (The World Buddhist University) ตั้งขึ้นตามมติที่ประชุมใหญ่ ครั้งที่ ๒๐ เมื่อ พ.ศ. ๒๕๔๑ (๑๙๙๘) ณ ประเทศออสเตรเลีย เพื่อให้ทำหน้าที่เชื่อมโยงและประสานงานกับมหาวิทยาลัยและสถาบันการศึกษาต่างๆทั่วโลก โดยมหาวิทยาลัยพุทธศาสนาแห่งโลกมุ่งเน้นกิจกรรมที่เกี่ยวกับการค้นคว้าและการพัฒนา การฝึกอบรมและการพัฒนาหลักสูตรการศึกษา การฝึกปฏิบัติจิตตภาวนา และการพัฒนาการศึกษาตามหลักพระพุทธศาสนา

ผู้ประสานงานองค์การยูเนสโกและหน่วยงานอื่นๆขององค์การสหประชาชาติ เพื่อประสานงานด้านกิจกรรมที่เป็นการส่งเสริมการศึกษา วิทยาศาสตร์และวัฒนธรรม

นอกจากนี้ พุทธศาสนิกชนในประเทศไทยยังได้ร่วมกันจัดตั้งมูลนิธิขึ้นมา ๓ แห่งเพื่อเป็นการสนับสนุนงานด้านพระพุทธศาสนา ดังต่อไปนี้

  1. มูลนิธิอุปถัมภ์สงฆ์ของ พ.ส.ล. (The Foundation in Support of Foreign Buddhist Monks of the WFB) ตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๑๕ (๑๙๗๒) เพื่อให้ความช่วยเหลือพระภิกษุสามเณรชาวต่างประเทศซึ่งมาศึกษาพระพุทธศาสนาในประเทศไทย
  2. มูลนิธิส่งเสริมการแลกเปลี่ยนความรู้ทางพุทธศาสนาเพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพล (The Foundation for the Support of Buddhistic Knowledge Exchange Programme in Honour of H.M. King Bhumibol The Great) ตั้งขึ้นมาเพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติเนื่องในวโรกาสเฉลิมพระชนมพรรษาครบ ๖๐ พรรษาของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลมหาราช เมื่อวันที่ ๖ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๓๐ (๑๙๘๗) ซึ่งดำเนินงานหลักในการจัดกิจกรรมเกี่ยวกับการแลกเปลี่ยนความรู้ทางพระพุทธศาสนา
  3. มูลนิธิส่งเสริมกิจการของ พ.ส.ล. (The Foundation for the Support of the WFB Activities) ตั้งขึ้นเมื่อ ๗ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๓๕ (๑๙๙๒) เพื่อดำเนินงานส่งเสริมและสนับสนุนกิจการของ พ.ส.ล.

สำนักงานใหญ่ พ.ส.ล. นอกจากจะทำหน้าที่ประสานงานระหว่างศูนย์ภาคีแล้ว ยังได้รับความร่วมมือจากมูลนิธิทั้ง ๓ ในเครือสำนักงานใหญ่ พ.ส.ล. จัดกิจกรรมทางพระพุทธศาสนาหลายรูปแบบตลอดทั้งปี
กิจกรรมที่นับว่าสำคัญ คือ

  1. วันอาทิตย์แรกของเดือน ภาคเช้าเรียนพระอภิธรรม ภาคบ่ายปาฐกถาธรรมและสอนวิปัสสนากรรมฐานเป็นภาษาอังกฤษ โดยพระภิกษุชาวต่างประเทศ
  2. วันอาทิตย์ที่สาม อภิธรรมศึกษาเพื่อความเข้าใจชีวิต
  3. วันอาทิตย์สุดท้ายของเดือน ภาคเช้าเรียนพระอภิธรรม ภาคบ่ายฟังการบรรยายธรรมโดยวิทยากรผู้ทรงความรู้ทางพระพุทธศาสนา


กิจกรรมเผยแผ่พระพุทธศาสนาที่สำคัญประการหนึ่ง ได้แก่ การจัดพิมพ์วารสารและสิ่งพิมพ์ออกเผยแพร่ คือ WFB Review และเอกสารสิ่งพิมพ์อื่น ๆ เช่น A Guide to Buddhist Monasteries and Meditation Centres in Thailand เป็นต้น